วันพฤหัสบดีที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

อุทยานแห่งชาติภูเก้า – ภูพานคำ


อุทยานแห่งชาติภูเก้า ภูพานคำ
 
  
                จังหวัดหนองบังลำภูนั้นเป็นจังหวัดหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน มีอาณาเขตติดกับจังหวัดของแก่นและอุดรธานี แม้จะเป็นจังหวัดที่เพิ่งก่อตั้งไม่นาน ทว่าเป็นจังหวัดที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนานไม่น้อย นอกจากนั้นยังเป็นจังหวัดที่มีสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่น่าเที่ยวคือ อุทยานแห่งชาติภูเก้า ภูพานคำ ซึ่งอุทยานแห่งชาติแห่งนี้นั้นมีสภาพเป็นภูเขาหินทรายโดยมีชั้นหินดาดเป็นฐาน ลักษณะโดยทั่วไปของพื้นที่ป่าเป็นป่าเต้งรัง มีเนื้อที่ประมาณ 201,250 ไร่ หรือ 322 ตารางกิโลเมตร ถูกประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2526 (ในขณะนั้นจังหวัดหนองบัวลำภูยังเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดอุดรธานี) โดยในครั้งนั้นยังเป็น อุทยานแห่งชาติภูเก้า ต่อมานายพิชา พิทยขจรวุฒิ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูเก้าขอผนวกพื้นที่ป่าของเทือกเขาภูพานคำเป็นอุทยานแห่งชาติด้วยในปี 2527 จนถึงวันที่ 20 กันยายน 2528 เทือกเขาภูพานคำก็ได้ถูกผนวกรวมเข้ากับอุทยานแห่งชาติภูเก้าซึ่งนับว่าเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 50 ของประเทศ โดยใช้ชื่อว่า อุทยานแห่งชาติภูเก้า ภูพานคำ

อุทยานแห่งชาติภูเก้า ภูพานคำเป็นอุทยานแห่งชาติที่มีความสวยงามอันดับต้นๆ ของประเทศ โดยภูเก้านั้นมีลักษณะสัณฐานคล้ายกระทะหงาย จึงสันนิษฐานออกเป็น 2 ข้อคือ 1.บริเวณพื้นที่แห่งนี้อดีตเคยเป็นปากปล้องภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้วเมื่อหลายร้อยล้านปีก่อน 2.เกิดจากการโก่งตัวเปลือกโลกในบริเวณนี้ ส่วนภูพานคำนั้น เรียงตัวตามแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ตะวันตกเฉียงใต้ ทางบริเวณทิศตะวันตกเฉียงใต้เป็นแอ่งที่ราบต่ำลุ่มน้ำพอง ซึ่งเป็นหุบเขาขนาดใหญ่ ครั้งเมื่อมีการสร้างเขื่อนอุบลรัตน์ (เขื่อนน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น) พื้นที่บริเวณนี้ได้กลายเป็นทะเลสาบ ซึ่งก็กินเนื้อที่ครึ่งหนึ่งของเทือกเขาภูพานคำ ส่วนพื้นที่ที่เป็นป่านั้นก็เป็นป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณที่มีความอุดมสมบูรณ์เป็นอย่างมาก ลักษณะภูมิอากาศของอุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำแบ่งเป็น 3 ฤดูคือร้อนในเดือนมีนาคม-เดือนพฤษภาคม และร้อนจัดในเดือนเมษายน ฤดูฝนในเดือนมิถุนายน-เดือนตุลาคมและฝนจะตกชุกที่สุดในเดือนกันยายน และฤดูหนาวในเดือนพฤศจิกายน-เดือนกุมภาพันธ์ อุณหภูมิหนาวที่สุดในเดือนมกราคม

นอกจากจะเป็นป่าเต็งรัง และทะเลสาบแล้วยังสามารถพบเห็นสัตว์ป่านานาชนิด รวมไปถึงถ้ำที่มีภาพเขียนและภาพเกาะสลักของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ น้ำตก และลานหินมากมาย โดยเฉพาะหินที่ถูกกัดเซาะจากลมและฝนมานานจนเกิดเป็นหินลักษณะแปลกๆ มากมาย นอกจากนั้นยังมีวัดพรพุทธบาทภูเก้า ซึ่งมีรอบเท้าของคนและสุนัขขนาดใหญ่สลักลงบนหิน ซึ่งเกี่ยวโยงกับตำนานพื้นบ้านเรื่อง "พระสุพรหมวิโมขากับหมาเก้าหาง" อีกด้วย

*เรียบเรียงโดย กินเที่ยวทั่วไทย
**ภาพประกอบจาก http://learners.in.th นางสาววราภรณ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น