วันพฤหัสบดีที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ปราสาทหินพนมรุ้ง

ปราสาทหินพนมรุ้ง




จังหวัดบุรีรัมย์นั้นมีแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นปราสาทหินมากมาย ปราสาทหินหนึ่งที่ขึ้นชื่อที่สุดคงจะเป็นที่อื่นไม่ได้นอกจาก “ปราสาทหินพนมรุ้ง” ปราสาทหินพนมรุ้งนี้ตั้งในอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง อยู่ที่บ้านตาเป็ก อำเภอเฉลิมพระเกียรติ ห่างจากตัวเมืองบุรีรัมย์ลงมาทางทิศใต้ประมาณ 77 กิโลเมตร เดินทางโดยใช้เส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 218 สายบุรีรัมย์ - นางรอง เป็นระยะทางประมาณ 50 กิโลเมตร จากนั้นให้เลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 24 สายสีคิ้ว - อุบลราชธานี ไปจนถึงหมู่บ้านตะโก ประมาณ 14 กิโลเมตร แล้วจึงเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 2117 ผ่านบ้านตาเป๊ก อำเภอเฉลิมพระเกียรติอีกประมาณ 12 กิโลเมตร ก็จะถึงอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง อีกเส้นทางหนึ่งให้เดินทางโดยใช้เส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 219 สายบุรีรัมย์ - ประโคนชัย เป็นระยะทางประมาณ 44 กิโลเมตร ถึงตัวอำเภอประโคนชัย จะเห็นทางแยกที่จะไปอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง ซึ่งใช้เวลาเดินทางอีกประมาณ 21 กิโลเมตร โดยใช้ทางหลวงหมายเลข 2075 และเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 2117 ก็จะถึงที่หมาย ถ้าหากไม่ได้นำรถยนต์มาเองก็ให้ใช้บริการรถโดยสารจากขนส่งบุรีรัมย์ ก็ให้ขึ้นรถโดยสารสายบุรีรัมย์ - จันทบุรี พอถึงที่หมู่บ้านตะโก แล้วจึงลงจากรถ จากนั้นจะมีรถสองแถววิ่งไปอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง ปราสาทหินพนมรุ้งนี้ตั้งอยู่บนยอดภูเขาไฟที่ดับสนิดแล้ว สูงประมาณ 200 เมตรจากพื้นราบ หรือประมาณ 350 เมตรจากทะเลระดับปานกลาง “พนมรุ้ง” นั้นมาจากภาษาเขมรคำว่า “วนํรุง” แปลว่า “ภูเขาใหญ่” จากหลักฐานที่ค้นพบทำให้ทราบว่าตัวปราสาทหินพนมรุ้งนั้นได้มีการบูรณะก่อ สร้างอย่างต่อเนื่องหลายสมัยด้วยกัน เริ่มตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 15 ถึงพุทธศตวรรษที่ 17 – 18 ซึ่งแต่ก่อนนั้นปราสาทหินพนมรุ้งนั้นเป็นเทวสถานในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย จากจารึกต่างๆ ที่พบพอจะสรุปได้ว่าปราสาทหินพนมรุ้งนั้นได้รับการสถาปนาเทวาลัยถวายพระ อิศวรโดย พระเจ้าราเชนทรวรมันที่ 3 กษัตริย์แห่งเมืองพระนครประมาณ พ.ศ. 1487-1511 แต่การสร้างในยุคเริ่มแรกนั้นยังไม่ได้เป็นปราสาทใหญ่โตอย่างเช่นปัจจุบัน ครั้งพอถึงสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 5 ราวปี พ.ศ. 1511 - 1544 พระเจ้าชัยวรมันที่ 5 ได้ทรงอุทิศที่ดินและข้าทาสบริวารแด่เทวสถานพนมรุ้ง ล่วงถึงพุทธศตวรรษที่ 17 นเรนทราทิตย์ เจ้านายแห่งราชวงศ์มหิทรปุระซึ่งเป็นพระญาติกับพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ผู้สร้างนครวัด พระองค์ปกครองดินแดนแถบนี้ ได้บูรณะและก่อสร้างปราสาทแห่งนี้ให้ใหญ่โตขึ้น เพื่อถวายแด่องค์พระศิวะเทพเจ้าสูงสุดในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย จึงเปรียบเสมือนเขาไกรราสอันเป็นที่ประทับของพระศิวะ และเป็นศูนย์กลางของจักวาล นอกจากนเรนทราทิตย์จะสร้างเป็นเทวสถานเพื่อถวายแก่องค์พระศิวะแล้วพระองค์ ยังได้ใช้ปราสสาทหินพนมรุ้งนี้เป็นที่บำเพ็ญพรตเป็นโยคี ทว่าเมื่อพระเข้าชัยวรมันที่ 7 แห่งอาณาจักรขอมได้หันมานับถือพุทธศาสนาลักธิมหายาน ก็ได้ปรับปรุงดัดแปลงให้สถานที่ท่องเที่ยวปราสาทหินพนมรุ้งเป็นศาสนสถานในพุทธศาสนา โดยแต่เดิมนั้นปราสาทหินพนมรุ้งสร้างขึ้นจากหินทรายสีชมพู

ความมหัศจรรย์ของสถานที่ท่องเที่ยวปราสาท หินพนมรุ้งนี้คือแสงอาทิตย์ที่ขึ้นจะตกนั้นจะตรงกันทั้งประตู 15 บานของปราสาทพร้อมๆ กัน ซึ่งปรากฏการณ์เช่นนี้จะเกิดขึ้นปีละ 4 ครั้งแต่ละครั้งจะมีระยะเวลาดังนี้

                ครั้งที่ 1 ดวงอาทิตย์ตกในวันที่ 5 – 7 มีนาคม เวลา 18.15 – 18.22 น.
                ครั้งที่ 2 ดวงอาทิตย์ขึ้นในวันที่ 2 – 4 เมษายน เวลา 06.05 – 06.12 น.
                ครั้งที่ 3 ดวงอาทิตย์ขึ้นในวันที่ 8 – 10 กันยายน เวลา 05.56 – 06.05 น.
                ครั้งที่ 4 ดวงอาทิตย์ตกในวันที่ 5 – 7 ตุลาคม เวลา 17.50 – 17.57 น.

                ซึ่งเป็นเช่นนี้ทำให้เห็นถึงภูมิปัญญาและอัจฉริยภาพในการผสมผสานเทวศาสตร์ และดาราศาสตร์ในด้านสถาปัตยกรรม ของของโบราณได้เป็นอย่างดี

* เรียบเรียงโดย กินเที่ยวทั่วไทย
**ภาพจาก http://learners.in.th/blog/khuanroen/294995

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น